วิธีทำให้ยากันยุงดับเอง

ยากันยุงแบบขด (Mosquito coil) ในปัจจุบันนั้น มี 2 แบบ คือ แบบใช้สารเคมี และแบบใช้สมุนไพรธรรมชาติ

ประโยชน์ของยากันยุง
ไม่ได้ใช้สำหรับป้องกันยุงที่มาสร้างความรำคาญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการป้องกันอย่างง่ายๆ จากโรคภัยต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ อันได้แก่ ไข้เลือดออก (Dengue Fever), มาลาเรีย (Malaria), เท้าช้าง(Elephantiasis), ชิคุนกุนย่า (Chikunkunya), ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis), และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease)

ปัญหาของการใช้ยากันยุง
ยากันยุงแบบขดเมื่อจุดไปได้สักพักนึงยุงจะหายไป แต่ยากันยุงมักถูกปล่อยให้ติดไฟไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดขดซึ่งทำให้สิ้นเปลือง นอกจากนั้น กลิ่นควันจากยากันยุงก็เป็นสิ่งที่น่ารำคาญพอสมควร และการสูดดมเข้าไปในร่างกายมากๆ ยังเป็นการเสี่ยงภัยจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย นี่คือปัญหาที่่ผู้เขียนเองต้องเจอบ่อยๆ และรู้สึกเสียค่าโง่ไปหลายครั้งนับไม่ถ้วน

ตามปรกติผู้เขียนจะแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่เวิร์ค 3 วิธี ดังนี้
1. เอาน้ำไปหยดใส่ไฟ ผลเสียมักจะปรากฏในวันถัดมาซึ่งบ้างครั้งจะพบว่า ยากันยุงชื้น ย้วย เสียรูปทรง
2. หยิบจับให้ส่วนที่ติดไฟจมอยู่ในกองขี้เถ้า แล้วมันจะขาดอากาศสำหรับเผาไหม้ จนกระทั่งดับไปเองซึ่งบ้างครั้งก็ไม่ดับ
3. นำไปตั้งทิ้งไว้ห่างๆ เหมือนเป็นการปัดโยนปัญหาออกไปแต่ไม่พ้นต้องเผายากันยุงทั้งขดไปฟรีๆ

แนวความคิดที่จะทำตัวดับยากันยุงนั้นผุดมาจากไอเดียวิธีที่ 2 หลายครั้ง จนมาถึงวันนี้ วันที่ลงมือทำการทดสอบและเขียนบทความ

วิธีทำให้ยากันยุงดับเองง่ายๆ
จะเรียกว่า วิธีประหยัดยากันยุงก็ได้ เราสามารถกำหนดให้ยากันยุงดับเองได้ง่ายๆ เมื่อถึงเวลา โดยใช้แผ่นอลูมิเนียมฟอยล์มาพันขดของยากันยุงในตำแหน่งที่ต้องการให้ยากันยุงดับเอง


ดูภาพประกอบข้างล่าง เพียงจำกัดขอบเขตการเผาไหม้ด้วยอลูเนียมเท่านั้น ยากันยุงก็สามารถดับเองได้ตามความยาวของยากันยุงที่ได้จำกัดเอาไว้ด้วยปลอกอลูมิเนียม และเมื่อต้องการจุดยากันยุงครั้งต่อไปก็เพียงแค่เลื่อนปลอก


หลักการทำงาน
เมื่อการเผาไหม้ของยากันยุงลามไปถึงปลอกอลูมิเนียม อ๊อกซิเจนที่ต้องใช้ในการเผาไหม้จะน้อยลงเนื่องจากถูกปิดกั้นด้วยปลอกอลูมิเนียม ประกอบกับคุณสมบัติการระบายความร้อนไปสู่อากาศของอลูมิเนียม จึงทำให้ไฟดับลง  ข้อดีประการหนึ่งของการใช้อลูมิเนียมคือ ทนความร้อน หาง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบาไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรูปทรงของยากันยุงเมื่อถูกความชื้น

เคล็ดลับ
1. หลังจากติดปลอกอลูมิเนียมให้ยากันยุงแล้ว เราสามารถดับยากันยุงเมื่อไหร่ก็ได้โดยการเลื่อนปลอกดังกล่าว
2. ควรเลือกใช้อลูมิเนียมฟอยล์ที่มีความหนากว่าแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ที่ใช้ในงานครัว อาจใช้อลูมิเนียมจากวัสดุอื่น เช่น แผงยาอลูมิเนียมฟอยล์(Aluminum Foil Blister Pack), กระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียม, ฝาเครื่องดื่มอลูมิเนียม ฯลฯ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สนเข็ม - วิธีร้อยด้ายที่ไม่ต้องลุ้น

วิธีแก้ไขเครื่องปรุงรสจับตัวเป็นก้อน

วิธีล้างถังน้ำดื่มที่มีตะไคร่